ธนะบูรีวิถีศิลป์
นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี
นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี

“นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี”

นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ได้รับงบประมาณสนับสนุนทุน
จากงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี โดยมีคณะวิจัย คือ


หัวหน้าโครงการวิจัย
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเจือ เขียดทอง

คณะผู้วิจัย
  • อาจารย์ชาคริต เกตุเรืองโรจน์
  • อาจารย์สมัชชา อภิสิทธิ์สุขสันติ

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

  • เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมกรุงธนบุรี
  • เพื่อศึกษาแนวความคิดในการออกแบบนิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี
  • เพื่อออกแบบและจัดทำนิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี
  • เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ชมนิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี

วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการดิจิทัลฯ

  • เพื่อการออกแบบสร้างสรรค์งานนิทรรศการดิจิทัลให้เหมาะสมกับผู้ชมรุ่นใหม่
  • เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปกรรมกรุงธนบุรีให้กว้างขวาง ในรูปแบบสื่อ
    นิทรรศการดิจิทัล
  • เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการเกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของศิลปกรรมกรุงธนบุรี
  • เพื่อเป็นการสร้างสรรค์งานนิทรรศการให้ผู้ชมเกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ และของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ธนะบูรีวิถีศิลป์

นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี

นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรีมีการจัดแสดงเพื่อจัดการความรู้สู่ผู้ชม ในลักษณะของภาพลายเส้นในรูปแบบของแผนที่ ที่สอดรับกับแนวความคิดวิถีชีวิตที่เรียบง่ายธรรมดาที่ซ่อนความพิเศษไว้ เมื่อเลือกข้อสืบค้นจากแผนที่ก็จะได้พบกับสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลายประกอบคำบรรยายมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพพลิก ภาพหมุน ซึ่งได้มาจากภาพกราฟิก ภาพถ่าย ภาพสันนิษฐาน ภาพจำลอง 3 มิติ ที่แปลกใหม่น่าค้นหานิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรีมีแนวความคิดในการออกแบบว่า “ธนบุรี วิถีศิลป์” ด้วยศิลปกรรมมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน สถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติสุข จึงส่งผลสะท้อนให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้างจากศิลปะที่รับมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยสามารถจัดหมวดหมู่ของศิลปกรรมกรุงธนบุรีเป็น 3 กลุ่ม

ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีราชสำนัก “ธนบุรี พอดีนคร”

ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีราชสำนัก “ธนบุรี พอดีนคร”

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชได้ทรงกอบกู้บ้านเมือง ระบบราชสำนักก็ได้สูญสิ้นไปกับสงคราม พระองค์ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ.2310 และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2311 จึงต้องรวบรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตามกฎมณเฑียรบาลกฎหมายตราสามดวง แนวปฏิบัติราชการต่าง ๆ อีกทั้งรวบรวมช่างผู้มีฝีมือที่หลงเหลือจากการกวาดต้อนของพม่ามาร่วมกันสร้างสรรค์ศิลปกรรม เพื่อให้มีครบถ้วนตามขนบประเพณี และคงความประณีตสวยงามที่พอเหมาะพอสม กับสถานการณ์บ้านเมืองที่เพิ่งรอดพ้นจากภาวะสงครามด้วยงบประมาณที่จำกัด เวลาที่เร่งรีบ วัสดุที่หายาก ช่างฝีมือที่เหลืออยู่น้อย จึงก่อให้เกิดวิถีศิลปะอาณาจักร ราชสำนักที่เรียบง่าย ด้วยพระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบที่ยิ่งใหญ่และเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ ศิลปกรรมกรุงธนบุรีจึงเป็นศิลปะ “เพื่อชีวิตและบ้านเมือง” จนอาจกล่าวได้ว่ากรุงธนบุรีแห่งนี้คือ “พอดีนคร” โดยมีงาน ศิลปกรรมที่นำเสนอในกลุ่มนี้ เช่น

  • - กำแพงเมืองธนบุรี
  • - ท้องพระโรง
  • - พระตำหนักแพ
  • - เจียดมุก ฯลฯ
ศิลปรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีศาสนา “ศาสนานำพาการสร้างสรรค์”

ศิลปรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีศาสนา “ศาสนานำพาการสร้างสรรค์”

จากการฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง หากแต่การสร้างบ้านเมืองในคราวนี้ เป็นการสร้างขึ้นบนพื้นฐานแห่งความพอดี ด้วยข้อจำกัด ประกอบกับบุคลิกภาพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วางพระองค์แบบพ่อปกครองลูก พระองค์ยังทรงใส่พระทัยในด้านพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้กับศาสนาอื่นๆ ด้วยมีการสร้างโบสถ์คริสต์ กุฎีอิสลาม วัดจีนและวัดญวน ทรงดำริให้มีการซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆที่ทรุดโทรม ภายหลังการฟื้นตัวจากสงคราม ส่งผลให้การออกแบบสร้างสรรค์ งานศิลปกรรมแขนงต่างๆ ยังคงได้รับอิทธิพลจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

การบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามถือว่ามีความสำคัญ ในฐานะจุดเชื่อมต่อของยุคสมัยของงานศิลปะไทย รูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ก็ไม่ลืมที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาใหม่ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยนั้น ที่ยังคงยึดมั่นในพระศาสนาและสร้างสรรค์ศิลป์เพื่อศาสนา โดยมีผลงานศิลปกรรมที่นำเสนอในกลุ่มศาสนา เช่น

  • - พระอุโบสถ และ พระวิหาร
  • - ตู้พระธรรม
  • - พระแท่นวิปัสนา ฯลฯ
ศิลปกรรมที่เกี่ยวกับวิถีชาวบ้าน “สถานการณ์สร้างสมดุล”

ศิลปกรรมที่เกี่ยวกับวิถีชาวบ้าน “สถานการณ์สร้างสมดุล”

ภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรี เมืองหลวงอันมีที่ตั้ง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ภาษาและ คนไทยดั้งเดิมจากกรุงศรีอยุธยา ต่างเดินทางเข้ามาเพื่อสร้างบ้านเรือนรวมกับชาวเมืองบางกอกเดิม ทั้งเรือนริมน้ำและเรือนแพ ประกอบสัมมาอาชีพ โดยหวังว่าจะสร้างชีวิตใหม่ ที่ฟื้นตัวจากสงคราม หากแต่ผู้คนเหล่านี้ ยังไม่ลืมที่จะนำเอาสุนทรียภาพและการสร้างสรรค์ทางศิลปะ มาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติและความเชื่อ ผ่านข้าวของเครื่องใช้ นอกจากนี้ยังสะท้อนผ่านผลงานวรรณกรรม มโหรสพและการละเล่นในเทศกาลงานพิธีสำคัญต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึง การนำเอาความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ มาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ กรุงธนบุรีแห่งนี้ เสมือนการสร้างสมดุลและสร้างเอกลักษณ์ ที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงธนบุรี ศิลปกรรมที่นำเสนอในกลุ่มเช่น

  • - เงินพดด้วง
  • - หินบดยา
  • - เบญจรงค์
  • - มหรสพ ฯลฯ

ศิลปะทั้ง 6 แขนง จัดหมวดหมู่ได้ 3 หมวด และจัดนิทรรศการในรูปแบบของแผนที่ ให้ค้นหากันต่อไป

ข้อจำกัดและข้อตกลงเบื้องต้น

  • ข้อมูลศิลปกรรมกรุงธนบุรีนี้เป็นการรวบรวมเพื่อจัดหมวดหมู่ไว้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลการสันนิษฐานจากข้อมูลเท่าที่พบในปัจจุบัน ยังไม่ชัดเจนครบถ้วนทุกประเด็น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลใหม่ที่ชัดเจน
  • ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา งบประมาณ และข้อมูล จึงยังมีศิลปกรรมกรุงธนบุรีที่มิได้จัดแสดงไว้ ณ ที่นี้ เช่น วัดหงษ์รัตนาราม พระสุรัสวดี ปืนใหญ่ วรรณกรรมอีกหลายเรื่อง ฯลฯ
  • ศิลปกรรมกรุงธนบุรี ในที่นี้คณะผู้จัดทำประสงค์จัดรวบรวมตามคำสันนิษฐานและตามข้อมูลที่มีในปัจจุบัน หากมีข้อมูลใหม่และหลักฐานอ้างอิงใหม่ที่น่าเชื่อถือมากกว่าก็อาจเปลี่ยนแปลงได้

คำนิยาม

ศิลปกรรมกรุงธนบุรี หมายถึง งานศิลปะประเภทต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ประณีตศิลป์และประยุกต์ศิลป์ มหรสพและการดนตรี ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้น ระหว่างสมัยที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราช และจัดหมวดหมู่เป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ศาสนา และชาวบ้าน