พระตำหนักแพเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าพระราชวังหลวงแห่งกรุงธนบุรี ในบริเวณนี้สันนิษฐานว่าประกอบด้วย ศาลาท่าน้ำ พระตำหนักแพ และพระตำหนักแพของพระมเหสี จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เรียกพลับพลาน้ำเพราะตั้งอยู่บนเสาตอม่อ เมื่อเราศึกษาร่วมกับแผนที่จารชนพม่า และบันทึกรายวันการเดินทางจากอินเดียสู่สยามฯ ของด็อกเตอร์ เจ. จี. เคอนิช พอสรุปถึงได้ดังต่อไปนี้

1. ฉนวนและศาลาท่าน้ำ

พระราชวังหลวงมีกำแพงฉนวนสองแถวต่อเนื่องออกมาจากพระราชวังสถานชั้นใน มาถึงสุดสะพานมีฉนวน ๆ นั้น มีศาลาน้อย ๆ หันหน้าจั่วลงน้ำข้างทิศตะวันออก มุงกระเบื้องลูกฟูกที่รื้อมาจากกรุงเก่า ทำอย่างท่าศาลาวัดราษฏร ด้วยไม่มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสดุ้ง จรนำ ลำยอง” ศาลาหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา

2. พระตำหนักแพหรือพระตำหนักน้ำ

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงโปรดให้เจ้าพระยาธรรมา ชื่อบุญรอด เป็นผู้ทำตำหนักน้ำหลังหนึ่งมีขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงรอบ ยาว 13 วา กว้าง 5 วา มุงกระเบื้องเกล็ดเต่าไม่มีช่อฟ้าใบระกา มีฝากระดานหลังเจียดช่องลูกฟัก มีลูกกรงรอบ 4 ด้านทาสีเขียวแดง รูปพรรณสัณฐานคล้าย ๆ ศาลาโรงธรรม เป็นตำหนักตั้งอยู่บนหลังคานปลายเสาตอม่อ ลงน้ำเหนือเรือนแพ มีชานล้อมรอบเฉลียง 4 ด้านๆละ 3 วา มีลูกกรงต่ำ ๆ รอบชาน มีประตูหูช้างเล็ก ๆ ที่ลูกกรงชานละ 8 ประตู ด้านในมีเครื่องกั้นทำด้วยงานฝีมือกลึงเกลาอย่างประณีต ส่วนด้านในพระตำหนักตั้ง “พระที่” แบบโบราณตัวใหญ่ปิดทอง ประดับตกแต่งด้วยภาพระบายสี ด้านหน้าพระตำหนักแพตกแต่งด้วยการทาสีและปิดทอง

3. พระตำหนักแพของพระมเหสี

ด็อกเตอร์ เจ. จี. เคอนิช กล่าวว่ามีพระตำหนักแพอีกหลัง เป็นของพระมเหสีอยู่ใกล้ ๆ กับตำหนักของพระเจ้าแผ่นดิน มีผนังและเครื่องกั้นสูงกว่าเล็กน้อยแต่มีขนาดเล็กกว่าพระตำหนักแพ

นอกจากพระตำหนักแพจะมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสรงน้ำ และเสด็จประทับทรงสำราญแล้ว ยังมีไว้สำหรับพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชเสด็จประทับจริง ณ พระตำหนักหลังนี้บ่อยครั้ง สใช้เป็นที่เทียบเรือพระที่นั่งสำหรับลงเรือพระที่นั่งในโอกาสเสด็จทางชลมารค ทั้งในด้านการรบและพระราชภารกิจอื่น ๆ จึงมีการเรียก “พระขนานน้ำประจำท่า”

พระตำหนักแพยังปรากฏชื่อในหมายรับสั่งกรุงธนบุรีอีกหลายหมายด้วยกัน แม้ว่าในปัจจุบันไม่มีตำหนักแพให้เราได้เห็น แต่ก็เป็นประจักพยานความงดงามเรียบง่ายทางศิลปกรรม จึงได้มีการจำลองเป็นภาพสันนิษฐาน 3 มิติ ให้ความสำคัญกับวิถีทางน้ำของราชสำนักกรุงธนบุรี

อ้างอิง

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2558).ศิลปกรรมกรุงธนบุรี. ใน 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน (หน้า 540-583). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

เคอนิช, เจ.จี. (2560). บันทึกรายวันเกี่ยวกับการเดินทางจากอินเดียสู่สยามและมะละกา ใน พ.ศ.2322 (ค.ศ.1779). นันทา วรเนติวงศ์ และธันวา วงศ์เสงี่ยม (ผู้แปล).
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ