เบญจรงค์

เบญจรงค์เป็นชื่อเรียกเครื่องถ้วยชามที่วาดลายด้วยมือ มาจากภาษาบาลี คำว่า “เบญจ” และภาษาสันสกฤต คำว่า “รงค์” เมื่อนำมารวมกันก็จะแปลว่า “5 สี” ได้แก่ สีแดง เหลือง เขียว น้ำเงิน และขาวหลายครั้งก็ถูกเพิ่มด้วยสีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล และทองคำบริสุทธิ์มีการผลิตครั้งแรกในประเทศจีน ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยราชวงศ์หมิง เครื่องเคลือบ 5 สีนี้ จีนเรียก อู๋ไฉ่ (Wucai) สำหรับเบญจรงค์ที่ใช้ในสมัยธนบุรีร่วมสมัยกับของที่ผลิตขึ้นในสมัยของพระจักรพรรดิเฉียนหลง

เบญจรงค์สมัยกรุงธนบุรีนั้น ได้มีการสั่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์จากประเทศจีน โดยใช้สมัยอยุธยาเป็นต้นแบบเครื่องถ้วยสมัยธนบุรีกล่าวได้ว่าเป็น "เครื่องถ้วยเลียนแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย" แต่มีความแตกต่างกัน คือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมชามทรงบัวภายในและพื้นหลังเคลือบสีเขียว ส่วนในสมัยกรุงธนบุรีนิยมชามทรงบัวและภายในพื้นหลังเคลือบสีขาว ลวดลายที่นิยม ได้แก่ ลายกนกลายพุ่ม ข้าวบิณฑ์ ลายเทพนมลายนรสิงห์ และยังมีที่เป็นลวดลายของจีนเช่นลายเทพพนมจีน(เทวดาพุงพลุ้ย) ซึ่งมีพื้นสี เช่น เหลือง ชมพู ม่วงโทนสีอ่อนสดใส ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีเครื่องเบญจรงค์ที่เป็นเครื่องบรรณาการจากสมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลงที่ทรงถวายพระเจ้าตากสิน เป็นชามเบญจรงค์เขียนลายเทพพนมในช่องกระจกรูปกลีบบัวพื้นสีขาว สลับด้วยลายครุฑลักษณะอย่างจีน ลายประกอบเป็นลายดอกไม้ใบไม้ ด้านในชามเคลือบสีแดง เครื่องเบญจรงค์ในสมัยนี้ยังมีการปรับปรุงคิดค้นรูปแบบ และลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย และเนื่องจากเบญจรงค์เป็นของที่ต้องสั่งทำ จึงทำให้มีราคาแพง นิยมใช้กันในหมู่เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ในวิถีชีวิตของคนทั่วไปก็จะนิยมใช้ในชีวิตของคนในสังคมชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะดี


อ้างอิง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2508). ตํานานเครื่องโต๊ะแลถ้วยปั้น (อนุสรณ์ในงานพระราชทาน เพลิงศพ พระศุลีสวามิภักดิ์). พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์.

ชนกนาถ มะยูโซ๊ะ. (2554). ลวดลายผ้าพิมพ์จากการศึกษาเครื่องเบญจรงค์. กรุงเทพฯ : คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. ทองเจือ เขียดทอง และคณะ. (2558). สารานุกรมศิลปกรรมกรุงธนบุรี ฉบับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเยาวชน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, หน้า 85-87.


อ้างอิงภาพ

มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กองทัพเรือ. (2545). นำชมพระราชวังเดิม. กรุงเทพฯ : กราฟิคฟอร์แมท (ไทยแลนด์). หน้า 130,131,132.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ