สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างกรุงธนบุรีให้สวยงาม ดังความตอนหนึ่งงในนิราศกวางตุ้งของหลวงนายศักดิ์ ที่ว่า

๏ แรกราชดำริตริตรองถวิล

จะเหยียบพื้นปัถทินให้งามสนาม

จะสร้างสรรค์ดังสวรรค์ที่เรืองราม

จึงจะงามมงกุฎอยุธยา

พระราชวังหลวงซึ่งหมายถึง เป็นประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชวงศ์ที่พักของข้าราชบริพาร ศูนย์กลางบัญชาการเมืองและการสงคราม ความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมในพระราชวังเดิมหรือพระราชวังหลวงสมัยกรุงธนบุรี

แผนผังพระราชวังหลวง แบ่งออกเป็น เขตพระอารามในพระราชวังหลวง เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระฐานชั้นใน

เขตพระอารามในพระราชวังหลวง

เขตพระอารามในพระราชวังหลวง คือ บริเวณวัดอรุณราชวราราม ประกอบด้วย พระปรางค์องค์เดิมพระวิหารเดิม พระอุโบสถเดิม ป้อมต้นโพธิ์ ประตูรามสุนทร หอหลวง ฯลฯ

เขตพระราชฐานชั้นนอก

เขตพระราชฐานชั้นนอก ประกอบด้วย โรงพระภูษา โรงทอง โรงเก็บอาวุธ โรงม้าและโรงช้างโรงตุลาการ โรงพระโอสถ พระคลัง ศาลาลูกขุนมหาดไทย ท้องสนาม พระวิหาร วัดท้ายตลาด ฯลฯ

เขตพระราชฐานชั้นกลาง

เขตพระราชฐานชั้นกลาง ประกอบด้วย กำแพงพระราชวังชั้นใน พระตำหนักทอง พระตำหนักปรก พระที่นั่งเย็น หอพระปริต ฯลฯ

เขตพระราชฐานชั้นใน

ได้แก่ที่ในเขตกำแพงชั้นในของพระราชวังเดิม เขตพระราชฐานชั้นในเป็นที่ตั้งของพระตำหนัก ตลอดจนเรือนต่าง ๆ ของเจ้านายฝ่ายใน รวมทั้งเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารสนมกำนัลที่เป็นหญิง ซึ่งส่วนใหญ่ทำด้วยไม้หลังคามุ้งกระเบื้อง

ขอบเขตพระราชวังหลวงแห่งกรุงธนบุรี

พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มุมพระราชวังตั้งต้นที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์มีกำแพงพระราชวังต่อไปจากป้อมเลียบฝั่งคลองบางกอกใหญ่ เป็นกำแพงด้านทิศใต้ถึงคลองวัดท้ายตลาด หรือวัดโมฬีโลกยาราม จึงเลี้ยวหักขึ้นไปทางเหนือเลียบฝั่งคลองวัดท้ายตลาด เป็นกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก กำแพงด้านนี้ยาวตลอดขึ้นจดคลองนครบาลในสมัยนั้น ถึงคลองด้านสกัดเหนือวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน จึงหักเลี้ยวเลียบฝั่งใต้คลองนครบาลมาจดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงนี้มีสะพานและมีป้อมชื่อป้อมต้นโพธิ์ กำแพงด้านนี้เป็นกำแพงพระราชวังด้านเหนือ ต่อจากป้อมต้นโพธิ์มีกำแพงเลียบฝั่งแม่น้ำยืนยาวลงมาทางใต้จนจดป้อมวิชัยประสิทธิ์ เป็นกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก ภายในวงกำแพงมีการอุปจารวัดแจ้งกับวัดท้ายตลาด กำหนดให้เป็นพุทธวาสหรืออารามในพระราชวัง มีกำแพงพระราชวังกั้นสกัดกลางระหว่างอารามกับบริเวณพระราชสถานกำแพงพระราชวังชั้นใน

เขตพระราชวังหลวงมีกำแพงพระราชวังชั้นในอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งรวมเขตพระราชฐานชั้นในกับชั้นกลางไว้ด้วยกัน สันนิษฐานว่ากำแพงพระราชวังชั้นในเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสยาวประมาณ 135-150 เมตร แต่กำแพงพระราชวังชั้นในด้านทิศตะวันออกมีความกว้างกว่าด้านอื่น เนื่องจากมีการซ่อมแซมและมีเชิงเทิน หรือเพื่อความแข็งแรงความปลอดภัย เนื่องจากอยู่ด้านริมแม่น้ำก็เป็นได้ จากการสำรวจส่วนกำแพงที่เหลือด้านทิศใต้และทิศตะวันออก ความหนาของตัวกำแพงประมาณ 65-76 เซนติเมตร มีใบเสมาสูงราว 70 เซนติเมตร หนา 50-65 เซนติเมตร มีไต่เตี้ยกว้าง 20-30 เซนติเมตร ความสูงของกำแพงประมาณ 3 เมตร มีลักษณะเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ 3 เมตร รวมทั้งใบเสมา ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่บนหลังกำแพง สิ่งปลูกสร้างในพระราชวังหลวง มีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของชาววัง ข้าราชบริภาร เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองสมัยกรุงธนบุรี แสดงถึงพระราชอำนาจที่ยิ่งใหญ่ไพศาล สืบสานให้มีไทยในปัจจุบัน

อ้างอิง

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2558). ศิลปกรรมกรุงธนบุรี. ใน 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน (หน้า 540-583). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 โครงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธน นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน. (2535).
(พิมพ์ในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสิน). กรุงเทพฯ : ชัยวิโรจน์การพิมพ์.

วทัญญู เทพหัตถี. (2542). พระราชวังเดิม ประวัติ และการเปลี่ยนแปลง. (รายงานการวิจัย วิชาการวิจัย 1 ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).

อ้างอิงภาพ

ภาพจิตรกรรมแสดงการสร้างพระราชวังธนบุรี โดย สรยุทธ ดวงใจ และเพื่อน สมบัติของมูลนิธิอนุรักษณ์โบราณ สถาณในพระราชวังเดิม.
ภาพโบราณในพระราชวังเดิม ช่วงรัชกาลที่ 5-7.กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ