การมหรสพแม้จะหยุดเล่นไปในระยะเสียกรุงศรีอยุธยา แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้นเพราะสามารถรวมผู้เป็นนาฎศิลป์ที่หลงเหลืออยู่ตามหัวเมืองสำคัญ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช นอกจากในพระราชสำนักแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้พระราชทานโอกาสให้บุคคลทั่วไปมีครูฝึกสอนละครนาฏศิลป์และจัดแสดงได้โดยไม่จำกัด ทั้งนี้เพื่อบำรุงขวัญประชาชนซึ่งเพิ่งรวบรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มหรสพที่ปรากฏในยุคนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับในสมัยอยุธยา คือ มีทั้งหุ่น โขน ละคร และละครชาตรี ซึ่งปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งกรุงธนบุรียังโปรดให้มีการมหรสพในงานพระบรมศพที่วัดอินทาราม ถึง 4 งาน เช่น หมายรับสั่งสมัยกรุงธนบุรี มีบันทึกแจ้งว่า ในพระราชพิธีการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ณ วัดบางยี่เรือนอก ปีจุลศักราช 1138 หรือ พ.ศ.2319 จะมีการตั้งระทาประดับดอกไม้ไฟชนิดต่าง ๆ ทั้งในระทาและนอกระทา (ระทา คือ หอสูงรูปสี่เหลี่ยมหลังคาทรงยอดเกี้ยว ประดับดอกไม้ไฟนานาชนิด เช่น พลุ ตะไล จรวด ใช้จุดในงานพระราชพิธี) มีการแสดงโขน งิ้ว รำหญิง หนังกลางวัน เทพทอง หุ่นลาวระหว่างระทา หุ่นญวนระหว่างระทา

การมหรสพหรือเครื่องเล่นยังมีในพระราชพิธีสำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรีคือ การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรี ดังหลักฐานในหมายรับสั่งเมื่อปีจุลศักราช 1141 หรือ พ.ศ.2322 โดยจัดกระบวนเรือขึ้นไปรับและแห่ลงมายังพระนครธนบุรีทั้งสิ้น 284 ลำ ใช้คน 608 คน โดยจัดมหรสพสมโภชที่ท่าเจ้าสนุก 3 วัน 3 คืน จัดให้มีการแห่ทางเรือลงมาโดยมีเรือเครื่องเล่น 154 ลำ มีมหรสพ เช่น งิ้ว ละครไทย ละครเขมร ปี่กลองจีน ญวนหก หุ่นลาว ชวารำ มโหรีไทย มโหรีฝรั่ง เป็นต้น

เมื่อพระแก้วมรกตมาขึ้นที่ป้อมต้นโพธิ์ที่ ณ วัดแจ้งแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พากษ์ และมโหรี สมโภช 2 เดือน 12 วัน จากนั้นจัดให้มีมหรสพสมโภช 7 วัน 7 คืน ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งในท้องสนามและในท้องนา ดังนี้

เครื่องเล่นฝั่งตะวันออก กลางวันจัดให้มี หุ่นลาว ละครเขมร งิ้วจีน งิ้วญวน โขนระหว่างระทา รำ หนังกลางวัน กลางคืนจัดให้มีหนังไทย หนังจีน หนังระหว่างระทา

เครื่องเล่นฝั่งตะวันตก กลางวันจัดให้มี ละครข้างใน โขนโรงใหญ่ ละครโรงใหญ่ เทพทอง โขนระหว่างระทา รำหญิง หุ่นมอญ หนังกลางวัน หุ่นลาว หกไม้สูง ไต่ลวดต่ำสาย ญวนหก คนต่อเท้า ปรกไก่ โมงครุ่ม ระเบ็ง ชวารำ นางกระบือ จีนเงาะ ปี่กลอง กลางคืนจัดให้มี หนังไทยโรงใหญ่ หนังไทยระหว่างระทา มังกร ม้าเพลิง ญวนรำ คู่มวยปล้ำ ต้นกัลปพฤก ดอกไม้เพลิงต่าง ๆ

เมื่อครั้งจัดงานฉลองพระแก้วมรกต ค่าเครื่องเล่นในเกณฑ์ และนอกเกณฑ์ เป็นเงิน 113 ชั่ง 12 ตำลึง รวมใช้เงินทั้งสิ้น 379 ชั่ง 3 ตำลึง 2 สลึง ซึ่งมากพอสมควรในสมัยนั้น แสดงถึงการให้ความสำคัญในการจัดมหรสพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีต่อประชาชน

จากที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นวิถีศิลปะและวิถีชาวบ้าน สีสันของผู้คนต่างชาติ ต่างภาษาในงานสมโภชพระแก้วมรกตเมื่อปลายสมัยธนบุรี มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนและวิถีชีวิตด้านศิลปวัฒนธรรมและการบันเทิง ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการจัดและการรับชมมหรสพอย่างพร้อมหน้า

อ้างอิง

ทองเจือ เขียดทอง, ฉลอง สุนทรนนท์ และสมัชชา อภิสิทธิ์สุขสันติ. (2558). สารานุกรมศิลปกรรมกรุงธนบุรี สำหรับเยาวชน ฉบับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. หมายรับสั่ง สมัยกรุงธนบุรี จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319). หอสมุดแห่งชาติ. (หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นขาว. เลขที่ 2 ตู้ 118. หมวดจดหมายเหตุกรุงธนบุรี).

อ้างอิงรูป

หมายรับสั่ง สมัยกรุงธนบุรี จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319). หอสมุดแห่งชาติ. (หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทยเลขที่ 2 ตู้ 118. หมวดจดหมายเหตุกรุงธนบุรี).

พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา, สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรอยุธยา. (2558). โขน ละคร ระบำอีสาน งานสืบสานวัฒนธรรมสู่ชุมชน. กรุงเทพฯ : พิพิธพัณฑสถานแห่งชาติ, หน้า 13.

มหรสพด้านดนตรีไม่ว่าจะเป็นวงปี่พาทย์ วงมโหรีและเพลงต่าง ๆ สมัยกรุงธนบุรียังคงรักษาแบบอย่างจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ปรับผ่อนปรนตามสภาพบ้านเมือง และมีการแพร่กระจายของดนตรีของชนชาติต่าง ๆ จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดุริยางค์การดนตรีสมัยธนบุรีมีดังนี้

จ.ศ.1136 (พ.ศ.2317) เสด็จพยุหยาตราทางชลมารคในเรือดั้งโยง 2 ลำ มีแตรสังข์ ปี่พาทย์

จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319) หมายรับสั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระนครคืนเมือง โปรดให้มี ปี่ กลองชนะ แตรงอน ในการสำหรับแห่และประโคม พระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ และพระสุพรรณบัฏ

จ.ศ.1143 (พ.ศ.2324) ทรงแต่งพระราชสาส์นออกไปจิ้มก้อง สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิ้ง เมื่อมีการจารึกพระราชสาส์นให้ประโคม ปี่พาทย์ ฆ้องชัย แตร สังข์

จ.ศ.1141 (พ.ศ.2322) โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุก แล้วมีการสมโภช 3 วัน 3 คืน มีเครื่องเล่น ดอกไม้ไฟ และเพลงปรบไก่นายแก้ว เพลงปรบไก่อำแดงนุ่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่ตำบลบางธรณี โปรดเกล้าฯ ให้มีเรือแห่ 154 ลำ ในเรือมีเครื่องเล่นวงมโหรีไทย ฝรั่ง และเขมร ปี่กลองจีนหลวงโชฎึก เมื่อพระแก้วมรกตมาขึ้นที่วัดแจ้ง พระนครธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้มีวงปี่พาทย์ไทย มอญ มโหรีไทย ฝรั่ง จีน ญวนและเขมร เปลี่ยนกันสมโภชน์ 2 เดือน 12 วัน

จากบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องรามเกียรติ์ เพลงร้องหรือเพลงละคร ได้แก่ ชมตลาด เบ้าหลุด น้ำค้างตะวันตก โทน ร่าย ชาตรี ครวญ ฯลฯ ยังปรากฏเพลงหน้าพาทย์ คือ กราว กราวรำ เสมอ เชิด บาทสกุณี แผละ แผละน้อย เชิดฉิ่ง เพลงลงสรง ฉุยฉาย เซ่นเหล้า ฯลฯ แต่การใส่เพลงหน้าพาทย์แบบกรุงธนบุรีเอกลักษณ์คือการไม่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอน และยังมีเพลงอีกหลายเพลงที่หายไป เช่น แผละน้อย โอ้บูชากุณฑ์

จะเห็นได้ว่าการดนตรีนั้นเป็นเครื่องเล่นการบันเทิงที่ประชาชนได้รับพระราชทานและมีส่วนร่วมในการจัดทั้งเพื่อให้คลายความระทมทุกข์ จากภาวะสงครามที่ผ่านมา เพลงเหล่านี้เป็นการสืบทอดจากกรุงศรีอยุธยาและสืบต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างอิง

ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 จารึกพระนามเจ้านครลงแผ่นสุพรรณบัฏ จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319). หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย. หมวดจดหมายเหตุหมู่หมายรับสั่งสมัยธนบุรี มัดที่ 1 จ.ศ.1138.

สุธีรา สัตยพันธ์. (2561, เมษายน).เพลงสมัยอยุธยาในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี. เอกสารเสนอต่อการสัมมนาทางวิชาการ “วรรณคดีสมัยธนบุรี”. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

อ้างอิงรูป

กรมศิลปากร. (2561). นิทรรศการ 250 ปีกรุงธนบุรี. 6 พฤศจิกายน 2561-15 มกราคม 2562 ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.
ธนิต อยู่โพธิ์. (2510). เครื่องดนตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ