ลักษณะและขนาดของกำแพงเมืองธนบุรี

กำแพงเมืองธนบุรีมีฐานรากที่กรมศิลปากรขุดค้นพบในฝั่งพระนครความกว้าง 6 เมตร ซึ่งใหญ่มาก จึงได้ทำภาพสันนิษฐาน 3 มิติ กำแพงเมืองธนบุรี โดยการลดฐานให้สมส่วน มีความศูงของกำแพง 5-6 เมตร มีความสูงถึงไต่เตี้ย (ทางเดินข้างกำแพง) 2.8 เมตร ไต่เตี้ยกว้าง 90 เซนติเมตร จากไต่เตี้ยถึงขอบกำแพงด้านบน 1.42 เมตร ใบเสมาสูง 1.20 เมตร ความหนาของกำแพง 3.50-4 เมตร

อิฐที่ใช้ก่อกำแพงเมืองมีหลายขนาดเนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชได้โปรดให้ไปนำอิฐที่เมืองพระประแดง ที่ค่ายพม่าวัดศรีกุก และค่ายโพธิ์สามต้นมาก่อกำแพงเมือง การก่อกำแพงเมืองใช้วิธีก่ออิฐสอปูน วางอิฐสลับกว้างยาว มีการใช้ท่อนซุงไม้ตาลปักเป็นระยะ ภายในกำแพงเมืองแบ่งเป็น ในเขตและนอกเขตพระราชวังหลวง ในเขตพระราชวังหลวง ยังแบ่งเป็น พระราชฐานชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก และมีการก่อกำแพงพระราชวังแบ่งเขตต่าง ๆ จึงทำให้กล่าวได้ว่ากำแพงเมืองธนบุรี มีกำแพงเมือง 2 ชั้น เมืองธนบุรีมีประตู 21 ประตู มีป้อมอย่างน้อย 4 ป้อม มีท่าน้ำหลายท่า

พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ก็คือชุมชนที่ นอกจากชาวสยามแล้วยังมีชุมชนนานาชาตินอกกำแพงเมืองแห่งนี้ทั้ง 2 ฝั่ง มีทั้งแขก จีน ญวน มอญ เขมร ลาว และฝรั่งอย่างชาวโปรตุเกสเป็นต้น ยังมีย่านชุมชนประกอบอาชีพเฉพาะ เช่น บ้านบุ บ้านหม้อ บ้านช่างหล่อ บ้านขมิ้น

กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ และ หอรบ คือสิ่งสำคัญสำหรับราชธานี สถาปัตยกรรมเหล่านี้ แสดงถึงความมั่นคงและเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง “พระนครธนบุรี” แห่งนี้ที่ใคร ๆ คิดว่าไม่ใหญ่โต แต่มีความแข็งแกร่ง เป็นศูนย์อำนาจในการกอบกู้และสร้างชาติ แถมยังขยายพระราชอาณาจักรให้กว้างใหญ่ไพศาล

อ้างอิง

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. (2559). ก่อสร้างเมืองจากชุมชนบางกอกสู่กรุงรัตนโกสินทร์ : ข้อมูลใหม่จาก หลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เคอนิช, เจ.จี. (2560). บันทึกรายวันเกี่ยวกับการเดินทางจากอินเดียสู่สยามและมะละกา ใน พ.ศ.2322 (ค.ศ.1779). นันทา วรเนติวงศ์ และธันวา วงศ์เสงี่ยม (ผู้แปล). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2558). ศิลปกรรมกรุงธนบุรี. ใน 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน (หน้า 540-583). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.


อ้างอิงภาพ

อำพัน กิจงาม. (2537). แนวกำแพงเมืองเก่าสมัยกรุงธนบุรี. ศิลปากร 17,6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม). 44-59.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ