ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “หอหลวง หมายถึง หอหนังสือหลวง เป็นที่เก็บรักษาเอกสารราชการในสมัยโบราณ ได้แก่ ต้นฉบับตัวเขียนที่เป็นตำรา กฎหมาย จดหมายเหตุ พงศาวดาร และวรรณคดีต่าง ๆ จึงมีการสร้างไว้คู่กับ หออาลักษณ์ หรือ ห้องอาลักษณ์

พระราชวังหลวงในสมัยกรุงธนบุรีเขตพระราชฐานตามธรรมเนียมที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต สันนิษฐานว่าในเขตพระราชฐานชั้นกลาง น่าจะมีหอหลวง ดังปรากฏเอกสารโบราณตัวเขียน จุลศักราช 1138 (พุทธศักราช 2319) เรื่อง “ลักษณะบุญ” ความตอนท้ายว่า “ถ้าขัดสนให้ดูอรรถกถาพิธีฎีกาซึ่งอยู่ในหอหลวง”

วรรณกรรมและเอกสารสำคัญ

สันนิษฐานว่าที่หอหลวงในอดีตเป็นที่เก็บเอกสารและวรรณกรรมสำคัญที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์ เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ทั้ง 5 ตอน หรือที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น เช่น สมุดภาพไตรภูมิ พระสมุดกฎถวายให้พระราชาคณะถวายพระพรเตือน คำพระสงฆ์ถวายพระพรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ฯลฯ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ แผนกเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

อ้างอิง

ลักษณะบุญ จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319). หอสมุดแห่งชาติ. (หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย ไมโครฟิล์ม, 23 เมษายน พ.ศ.2528) เลขที่ 19 หมวดจดหมายเหตุกรุงธนบุรี.

งานจิตรกรรมในสมัยธนบุรีเป็นหน้าที่ของกรมช่างเขียน ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “... ขุนพิศณุกรรม์ กรมช่างเขียนได้เขียนเรือพระที่นั่งสำหรับทรงพระราชโองการ...” จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยธนบุรี “เรือรบ เขียนเป็นตราตามตำแหน่ง ตรงข้างเรือเขียนลายรดน้ำ เรือพระที่นั่งทรง เขียนหน้าเรือเป็นรูปครุฑ ข้างเป็นลายรดน้ำ พนักท้ายเขียนน้ำทองพระอวดทอง” นอกจากนั้นยังปรากฏภาพวาดในเอกสารโบราณตัวเขียนสมัยธนบุรี ดังนี้

  1. หมายรับสั่งกรุงธนบุรี เรื่อง การถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ จุลศักราช 1138 (พุทธศักราช 2319) มีภาพฉัตร 9 ชั้นและระทา
  2. หมายรับสั่งกรุงธนบุรี เรื่อง การพระราชทานเพลิงพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระเจ้านราสุริยวงศ์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช จุลศักราช 1138 (พุทธศักราช 2319) มีภาพลายเส้นฉัตรเบญจา
  3. ในพระสมุดกฎทรงถวายราชาคณะให้ถวายพระพรเตือน จุลศักราช 1137 (พุทธศักราช 2318) ในเล่มเดียวกันมีตำราการทำธงไชยกระบี่ยุทธ และมีภาพประกอบ รูปขุนกระบี่หรือหนุมานที่ยกขาและชี้ไปข้างหน้า มีลักษณะที่แตกต่างและแสดงถึงความมีพลังอำนาจได้อย่างดี

แม้ว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าเขียนโดยช่างเขียนหรืออาลักษณ์ แต่ก็ทำให้เห็นถึงความสวยงามอ่อนหวานของลายเส้นและเห็นถึงความเอกลักษณ์และภาพประกอบเหล่านี้มีหน้าที่ในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ

อ้างอิง / อ้างอิงภาพ

หมายรับสั่ง สมัยกรุงธนบุรี จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319). หอสมุดแห่งชาติ. (หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย.เลขที่ 2 ตู้ 118. หมวดจดหมายเหตุกรุงธนบุรี).

กฎหมายเรื่องให้พระราชาคณะถวายพระพรเตือนพระสติ จ.ศ.1137 (พ.ศ.2318). หอสมุดแห่งชาติ. (หนังสือสมุดไทยดำ อักษรไทย ภาษาไทย เส้นรง.เลขที่ 30-3 มัดที่ 69 ตู้ 108. หมวดจดหมายเหตุกรุงธนบุรี).

สมุดภาพไตรภูมิเป็นจิตรกรรมประเภทเอกสารโบราณ มีการสร้างสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยและอยุธยา แสดงถึงความรู้และความศรัทธาต่อวรรณกรรมเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เรื่องราวในสมุดภาพไตรภูมิ เป็นการบอกเล่าแนวคิดเชิงจักรวาลวิทยาแบบพุทธ (Buddhism Cosmology) ประกอบด้วยกัน 3 ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภุมิ สร้างความเข้าใจในหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือ ไตรวัฏฏ์ ไตรลักษณ์ และไตรสิกขา

ลักษณะของสมุดภาพเป็น สมุดไทยสีขาว พับทบไปมา เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น ตัดเส้น สีสันสวยงาม สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ 10/ก มีขนาดกว้าง 23 เซนติเมตร ยาว 52 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร โดยในปีพุทธศักราช 2319 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระยาศรีธรรมาธิราช อรรคมหาเสนาบดี จัดนายช่างเขียนภาพ ได้แก่ หลวงเพชวกรรม นายนาม นายบุญษา นายเรือง และ ผู้ทำหน้าที่อาลักษณ์ ผู้เขียนอักษร ได้แก่ นายบุณจัน นายเชด นายสน และนายทองคำ

สมุดภาพไตรภูมิในสมัยกรุงธนบุรี ตามหลักฐานที่พบมีอยู่ 3 ฉบับ โดยสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงกรุงธนบุรี สร้างในปี พุทธศักราช 2319 จำนวน 2 ฉบับ ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ส่วนสมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรีฉบับที่ 3 นั้น ถูกเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุด กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี

เอกลักษณ์ที่น่าสนใจของภาพ ในสมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรี เช่นมีการใช้สีสันที่หลากหลาย และมีการไล่น้ำหนักอ่อนแก่ในบางจุด มากกว่าภาพในสมุดภาพไตรภูมิในสมัยอื่นๆ การดำเนินเรื่องยาวติดต่อกันหลายหน้า ซึ่งโดย ปกติจะจบเรื่องเพียงหน้าคู่ การวาดใบหน้าของพระพรหมจะเป็นการวาดเพียงด้านหน้าด้านเดียว ซึ่งแต่ต่างจากสมัยอยุธยาที่มีวาด 4 ด้าน การเขียนเล่าเรื่องด้วยตัวอักษรไทยและที่น่าสนใจคือ อักษรขอมกำกับคาถาบาลีไว้เป็นระยะ อีกทั้งยังมีแผนที่โบราณแสดงที่ตั้งของสยาม ทางตะวันออกหัวเมืองชายทะเล เช่น นครหลวง ระยอง จันทบูร กวางตุ้ง วิลันดา บรูไน และ ญี่ปุ่น ทางตะวันตกได้แก่ เพชรบุรี มะละกา ศรีลังกา มีเอกลักษณ์อีกประการที่น่าสนใจอันแตกต่างนั่นคือการใช้สัญลักษณ์ดอกบัวแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนความเชื่อแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เป็นการแสดงลักษณ์ที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ อีกทั้งเป็นความเรียบง่ายของช่างเขียน

สมุดภาพไตรภูมิไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีนี้ นับว่ามีความสำคัญในแง่ของการเป็นเครื่องมือในการเทศนาสั่งสอนผู้คน อีกทั้งเป็นการสะท้อนวิถีของคนยุคนั้นที่ศรัทธาในพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังแสดงถึงความใส่พระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่มีต่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

อ้างอิง

กรมศิลปากร. (2542). สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา-ธนบุรี เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์. (2558). ศิลปกรรมสมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสภา.

ทองเจือ เขียดทอง, ฉลอง สุนทรนนท์ และสมัชชา อภิสิทธิ์สุขสันติ. (2558). สารานุกรมศิลปกรรมกรุงธนบุรี สำหรับเยาวชน ฉบับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.

อ้างอิงรูป

กรมศิลปากร. (2542). สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา-ธนบุรี เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ