แท่นหินและลูกหินบดยา

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ตำราวิชาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการแพทย์แผนไทยถูกทำลายและสูญหายไปมาก เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช ตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรี การฟื้นฟูวิทยาการต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ยาก สำหรับการแพทย์และยังคงการรักษาตามแบบโบราณที่สืบเนื่องกันมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ซึ่งยารักษาโรคถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของคนทุกคน ในสมัยกรุงธนบุรีปรากฏหลักฐานจากบันทึกการเดินทางรายวัน จากอินเดียสู่สยามและมะละกา ใน พ.ศ. 2322 ของ ดร. เจ. จี เคอนิช (Dr. J. G. König) ซึ่งเป็นหมอ สรุปได้ว่า หากผู้ป่วยนั้นทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์ก็จะส่งหมอหลวงลงมาดูแล การแพทย์แผนไทยมีทั้งหมอหลวง หมอพื้นบ้าน สมัยนั้นมีร้านขายยาสมุนไพรเครื่องยาของชาวจีน มีตำราทางการแพทย์ที่ใส่ตัวอย่างสมุนไพรและรูปวาดกายวิภาค วิธีการรักษานั้นยังผูกพันกับความเชื่อและศาสนาอีกด้วย

งานศิลปกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์ที่ยังหลงเหลืออยู่คือแท่นหินและลูกหินบดยา ศิลปะประยุกต์สมัยกรุงธนบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นโอรสองค์ที่ 2 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) แท่นหินและลูกหินบดยา โดยทั่วไปมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ แท่นหิน และลูกบดหิน แท่นหินจะสกัดเป็นแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ลูกบดหิน มีลักษณะเป็นแท่งยาวทรงกระบอก ปลายทั้งสองด้านมีลักษณะกลมมน เป็นเครื่องมือบดยาแผนโบราณให้ละเอียด วิธีใช้หินบดยา ก่อนใช้ต้องนำเอาตัวยาจากสมุนไพรไปใส่ครกไม้หรือครกหินตำให้ละเอียดเสียก่อน ใช้ตระแกรงใส่ตัวยาร่อน นำผงที่ได้ไปผสมกับตัวยาอื่นๆ ตามสัดส่วนของการทำยาแผนโบราณ จากนั้นวางยาบนแท่นหินทีละน้อยแล้วจับลูกหินบดยากดทับบนแท่นหินครูดไปมา ขณะบดยาจะใช้น้ำหรือน้ำผึ้งพรมให้ยาเปียก บดจนตัวยาเข้ากันจึงนำไปปั้นเป็นเม็ดเล็กๆ เก็บรักษาได้นาน ศิลปกรรมกรุงธนบุรีชิ้นนี้นับเป็นส่วนที่เป็นวิถีเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ด้านการรักษาโรคที่สำคัญ

อ้างอิง

Atachai. (2555). หินบดยา. เข้าถึง 18 มีนาคม 2562, จาก http://antiqueclubone.blogspot.com/2012/07/blog-post_11.html.


อ้างอิงภาพ

รายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่สร้างสมัยกรุงธนบุรีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. หนังสือเลขที่ วธ 0407.06/582 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2562.

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ