ศิลปกรรมกรุงธนบุรีเกี่ยวพันกับวิถีชาววัง วิถีชาววัด และวิถีชาวบ้าน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราชทรงรู้ถึงความจำเป็นของศิลปกรรมที่มีคุณค่าดุจอัญมณีประดับเมืองให้สวยงาม จึงได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานพระราชนิพนธ์ โปรดเกล้าให้มีการสร้างขึ้นและสนับสนุนให้หลายคนมรส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้กรุงธนบุรีมีศิลปกรรมตามแนวสากลครบทุกแขนง ดังจะสรุปถึงลักษณะของศิลปกรรมกรุงธนบุรีแต่ละแขนงได้ดังนี้

จิตรกรรม

จิตรกรรม มีเนื้อหาของภาพที่มุ่งสอนประชาชนให้เข้าใจพระพุทธศาสนา จากเรื่องไตรภูมิ กล้าตีความโดยใช้สัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดเนื้อหา รูปแบบการใช้สี มีการใช้สีมากกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา มักใช้สีแดงเป็นหลัก บางครั้งยังพบการไล่น้ำหนักสี ซึ่งในความเชื่อของงานจิตรกรรมไทยนั้นสีแดงใช้แทนความหมายของอากาศหรือแทนพื้นที่ของ ลักษณะรูปแบบในงานถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่ดูเข้มแข็ง ชัดเจน จริงจัง แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและอิทธิพลของต่างชาติแต่ความอ่อนช้อยของเส้นและรูปแบบปรากฏให้เห็น

ประติมากรรม

ประติมากรรมกรุงธนบุรี ยังคงรับใช้ศาสนา พบพระพุทธรูปสมัยกรุงธนบุรีอย่างน้อย 2 องค์ ในด้านรูปแบบยังไม่ปรากฏเอกลักษณ์ชัดเจน แต่เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปแทนตน โดยเปรียบเทียบส่วนที่เหมือนจากพุทธลักษณะ ส่วนเทคนิคยังคงใช้การหล่อสัมฤทธิ์เช่นสมัยกรุงศรี

สถาปัตยกรรม

แผนผังการสร้างพระราชวังและวัดยังคงมีการรักษาขนบแบบกรุงศรีตอนปลาย รูปแบบสถาปัตยกรรมคือ อาคารขนาดไม่ใหญ่มาก สัดส่วนอาคารแคบยาว หน้าจั่วมีแบบมุขลดและแบบพรมพักตร์ หน้าบันทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนมีลวดลาย ชั้นล่างของหน้าบันมักฉาบเรียบและนิยมเจาะร่องหน้าต่าง 2 ช่อง ซึ่งได้แบบจากสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยรูปแบบนี้ปรากฏต่อเนื่องกระทั่งใสถาปัตยกรรมสมัย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สื่อถึงความพอดีเรียบง่าย

ศิลปะประยุกต์และประณีตศิลป์

ประณีตศิลป์ประเภทเครื่องเบญจรงค์สมัยกรุงธนบุรียังคงมีลวดลายแบบเดิม เช่น กนก เทพพนม นรสิงห์ นิยมชามทรงบัว การเคลือบภายในนิยมเคลือบขาวแทนสีเขียว ส่วนตู้พระธรรม ลักษณะบานประตูตู้พระธรรม เนื้อหาลวดลายมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการผูกลายนั้นเป็นแบบเดียวกับกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สะบัดพลิ้วเท่ากับของเดิม รูปแบบลวดลายเริ่มมีการประดิษฐ์ให้ห่างจากความจริง นิยมลวดลายเกลือเถากนกแทรกภาะและนิยมการเขียนลายแบบลดรูป ถือได้ว่าครั้งกรุงธนบุรี กรมช่างสิบหมู่มีความเจริญรุ่งเรือง

ดนตรี นาฏศิลป์ การละเล่นและการแสดง

ดนตรี นาฏศิลป์ การละเล่นและการแสดง ได้รับอิทธพลจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมืองนครศรีธรรมราช และชาวต่างชาติหลายชาติพันธุ์ มีระเบียบแบบแผนอย่างอดีตแต่ไม่ตายตัวอย่าสมัยต่อมา มีความกระชับเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

วรรณกรรม

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีคงรับอิทธิพลสมัยอยุธยาเพียงแต่รูปแบบการแต่งเท่านั้น การใช้ถ้อยคำและความนึกคิดของกวีมีลักษณะเฉพาะตัว สะท้อนความรู้สึกนึกคิด สภาพจิตใจ และบุคลิกลักษณะของชาวธนบุรี มีศิลปะแห่งการร้อยเรียงด้วยคำเรียบง่ายใฝ่สันโดษ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีส่วนใหญ่แต่งขึ้นตามเค้าเรื่องที่มีมาแต่ก่อน ส่งอิทธิพลถึงการสร้างวรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย

สรุปศิลปกรรมกรุงธนบุรี

เนื่องด้วยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีอยู่เพียงระยะเวลา 15 ปี และในช่วงนั้นอยู่ระหว่างการสร้างบ้าน แปงเมือง แต่ก็ได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมไว้เป็นมรดกของชาติจำนวนหนึ่ง ช่างศิลป์บางส่วนเป็นบุคคลร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ทำให้การกำหนดแบบอย่าง (Style) อย่างชัดเจนนั้นทำได้ยาก พอสรุปได้ว่า ศิลปกรรมกรุงธนบุรีนั้นถือเป็น “ศิลปกรรมเพื่อชีวิตและบ้านเมือง”ที่ยังคงขนบความเป็นไทยมีการพัฒนาต่อยอดให้แตกต่างออกไปก็ด้วยข้อจำกัดของเหตุการณ์บ้านเมือง วัสดุ อุปกรณ์ ทุนทรัพย์ มีอิทธิพลของต่างชาติบ้าง อิทธิพลจากพระพุทธศาสนาบ้าง ทำให้ผลงานมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ได้รับแบบแผนจากสมัยกรุงศรีอยุธยา นำมาสร้างสรรค์เพื่อสร้างคนสร้างชาติ และส่งผลเชื่อมต่อเป็นฐานให้ศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์

วีดิทัศน์ ภาพหมุน ย้อนกลับ